X
สหกรณ์ครูขอนแก่น

ขอนแก่น ชมรมสมาชิกสหกรณ์ครูฯ เปิดประเด็นเงินหาย ไม่ใช่ 396 แต่เป็น 1,175 ล้านบาท

ขอนแก่น–ประธานชมรมสหกรณ์ครูฯ เตรียมมอบหลักฐานเงินหายกว่า 1,175 ล้านบาทให้สหกรณ์จังหวัด พร้อมยื่นปลดคณะกรรมการสหกรณ์ฯ ทั้งชุด ฐานจงใจปกปิดความผิด

ดร.วิศร์ อัครสันตติกุล ประธานชมรมสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด กล่าวว่า ตนได้ทำหนังสือถึงสหกรณ์จังหวัดขอนแก่นในฐานะรองนายทะเบียนสหกรณ์และอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่องขอให้คณะกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด พ้นจากตำแหน่งโดยอ้างถึงหนังสือสำนักงานสหกรณ์จังหวัดขอนแก่น ที่ ขก.1010/1305 ลงวันที่ 22 เมษายน 2563 โดยได้แนบบัญชีรายชื่อคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ชุดที่ 57/2562 และชุดที่ 58/2563 และ statement ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เนื้อหาหนังสือระบุว่า ตามหนังสือที่อ้างถึง สหกรณ์จังหวัดขอนแก่น จำกัด ได้แจ้งแนวปฏิบัติในการร้องขอของสมาชิกเพื่อให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์พ้นจากตำแหน่งและแจ้งรายละเอียดการดำเนินการให้ผู้ตรวจสอบกิจการ ผู้จัดการ และเจ้าหน้าที่อื่นในสหกรณ์ออมทรัพย์ครูฯ ออกจากตำแหน่ง แนวทางปฏิบัติดังปรากฏตามหนังสือที่อ้างถึง

ทั้งนี้ชมรมฯ มีความประสงค์ขอให้ผู้มีอำนาจตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดำเนินการตรวจสอบและพิจารณาสั่งให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด ชุดที่ 57/2562 ต่อเนื่องชุดที่ 58/2563 ซึ่งมีดร.อนุศาสตร์ สอนศิลพงศ์ เป็นประธานคณะกรรมการฯ และกรรมการฯ ชุดละ จำนวน 14 คน พ้นจากตำแหน่ง โดยมีข้อกล่าวหาและพยานหลักฐานพอสรุปได้ดังต่อไปนี้

ประการแรก  ร่วมกันปกปิดซุกซ่อนข้อเท็จจริงพยานหลักฐานด้านการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด ต่อที่ประชุมใหญ่วิสามัญ เมื่อคราวประชุมวันที่ 4 ธ.ค. 2562 โดยคณะกรรมการฯ เปิดเผยต่อที่ประชุมว่า มีเงินหายไปจากสหกรณ์เพียง 396 ล้านบาท ซึ่งไม่เป็นความจริง  โดยข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานได้แก่

รายการเบิกถอน เอกสารประกอบการเบิกเงินที่ตรวจพบ ประกอบด้วย วันที่ 20 กรกฎาคม 2554 มีการถอนเงินจำนวน 770,000,000 บาท (เจ็ดร้อยเจ็ดสิบล้านบาท) จากบัญชีสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัด ไปเข้าบัญชีฝากประจำ 12 เดือน ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขา เทสโก โลตัส  ฟอร์จูนทาวน์  เลขที่ 144-101918-9

โดยผู้มีอำนาจลงนาม คือ นายเอกราช ช่างเหลา นายนพรัตน์ สร้างนานอก นายสมศักดิ์  โคตรวงศ์ และ นายนิวัฒร นิราชสูงเนิน และได้ฝากเข้าบัญชีบุคคลภายนอก ชื่อบัญชี นางวราพร พันธะสาร หรือ ธรณี  เลขที่บัญชี 144-2-17833-4  ธนาคารไทยพาณิชย์

นอกจากนี้ วันที่ 16 สิงหาคม 2554 ได้มีการเบิกถอนจากบัญชีเดียวกันอีก จำนวน 2 ครั้ง คือ

ครั้งที่ 1   จำนวน 296,000,000  บาท (สองร้อยเก้าสิบหกล้านบาท)

ครั้งที่ 2   จำนวน 100,000.000 บาท (หนึ่งร้อยล้านบาท)

รวมเป็นเงิน 396,000,000 บาท (สามร้อยเก้าสิบหกล้านบาท) และนำฝากเข้าบัญชี นายเอกราช ช่างเหลา บัญชีเลขที่ 144-17533-6 ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

จากนั้นวันที่ 14 พฤศจิกายน 2556 มีการเบิกถอนเพิ่มอีกจำนวน  9,015,719.18 บาท (เก้าล้านหนึ่งหมื่นห้าพันเจ็ดร้อยสิบเก้าบาทสิบแปดสตางค์) โดยนำฝากเข้าบัญชี นายเอกราช ช่างเหลา บัญชีเลขที่ 144-17533-6  ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จำนวนเงินทั้งสองครั้งเป็นเงิน 1,175,015,719.18  บาท (หนึ่งพันหนึ่งร้อยเจ็ดสิบห้าล้านหนึ่งหมื่นห้าพันเจ็ดร้อยสิบเก้าบาทสิบแปดสตางค์) ที่สหกรณ์เสียหายเป็นเบื้องต้น

“การที่กรรมการสหกรณ์ฯ ชุดปี 2562 และปี 2563 ต่อเนื่องนำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ จึงไม่ตรงกับข้อเท็จจริง มีเจตนาปกปิดซุกซ่อนเพื่อช่วยเหลือผู้กระทำผิด ทำให้สหกรณ์ฯ และสมาชิกได้รับความเสียหาย กระทบต่องบการเงินของสหกรณ์ฯ อย่างร้ายแรง พยานเอกสารจะได้แสดงและมอบให้กับผู้ตรวจราชการสหกรณ์ในชั้นสอบสวนข้อเท็จจริง” ดร.วิศร์กล่าว

ประธานชมรมสมาชิกสหกรณ์ฯ กล่าวอีกว่า คณะกรรมการดำเนินงานชุดที่ 57/2562 ต่อเนื่องชุดที่ 58/2563 จงใจฝ่าฝืนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญและคำสั่งนายทะเบียน รองนายทะเบียนสหกรณ์ การประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562 มีมติให้คณะกรรมการดำเนินการฟ้องร้อง ร้องทุกข์ ดำเนินคดีจนถึงที่สุดกับผู้ทำให้สหกรณ์ฯ เสียหาย พร้อมกับแต่งตั้งตัวแทนสมาชิกเข้าร่วมกับคณะกรรมการ

“ปรากฏว่า การฟ้องร้อง ร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้กระทำการให้สหกรณ์ฯ ได้รับความเสียหายกลับล่าช้า ไม่มีประสิทธิภาพ ดำเนินคดีกับบุคคลเพียง 3- 4 คน ทั้งๆ ที่มีผู้เกี่ยวข้องมากกว่า 30 คน พยานเอกสารจะมอบให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง” ดร.วิศร์ กล่าว

ประการที่สอง คือ จงใจฝ่าฝืนคำสั่งนายทะเบียน กรณีการจัดสรรกำไรสุทธิ เมื่อคราวประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2562 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์สำหรับตนเองและผู้อื่นในเงินโบนัส จำนวนกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามากที่สุดในประเทศไทย

ประธานชมรมสมาชิกสหกรณ์ฯ กล่าวอีกว่า การจัดสรรงบดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการควบคุมสหกรณ์ด้วยระบบบัญชี จนกระทั่งสหกรณ์จังหวัดขอนแก่นในฐานะรองนายทะเบียนสหกรณ์ ได้เพิกถอนมติดังกล่าวแล้ว พยานหลักฐานอยู่ที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดขอนแก่น

นอกจากนี้ ยังจงใจฝ่าฝืนไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามคำแนะนำของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เรื่อง วิธีปฏิบัติทางบัญชีเกี่ยวกับเงินสดขาดบัญชี/เงินสดเกินบัญชี พ.ศ.2546 ที่จัดสรรกำไรสุทธิจาก1,126,271,660.15 บาท แทนที่จะจัดสรรเพียงจำนวน 894,120,339.72 บาท ตามคำแนะนำในรายงานผลการตรวจสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีของสหกรณ์ฯ ที่ได้กระทำอย่างตรงไปตรงมา เพื่อรักษาประโยชน์ของสหกรณ์ฯ และมวลสมาชิก

“สหกรณ์กลับมีข้ออ้างว่า เพื่อที่จะให้สมาชิกจะได้รับเงินปันผลมากๆ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน เงินส่วนต่างจำนวน 262,151,320.43 บาท ที่สหกรณ์นำมาจัดสรรเป็นกำไรสุทธิ จึงเป็นการขัดต่อระเบียบ ข้อบังคับที่กำหนดอย่างชัดเจน และเป็นการทำให้สหกรณ์ฯ ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง พยานหลักฐานอยู่ที่สหกรณ์จังหวัดขอนแก่น” ดร.วิศร์ กล่าว

ดร.วิศร์กล่าวว่า จากเหตุผลและพยานหลักฐานดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าคณะกรรมการดำเนินงานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น จำกัดชุดที่ 57/2562 ต่อเนื่องชุดที่ 58/2563 มิได้ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สหกรณ์ จนส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของมวลสมาชิก สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้และประชาชนทั่วไป หากปล่อยให้คณะกรรมการชุดฯนี้ทำหน้าที่บริหารจัดการสหกรณ์ต่อไป อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของสหกรณ์ในอนาคตอันใกล้นี้

“พวกเราจึงเห็นสมควรให้คณะกรรมการฯ ชุดนี้ได้พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และขอให้นายทะเบียนและ/หรือรองนายทะเบียนโปรดพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจของท่านต่อไป โดยทางชมรมฯ พร้อมที่จะให้ข้อมูล พยานหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนข้อกล่าวหาในเรื่องดังกล่าว” ดร.วิศร์ กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ทีมข่าว77ขอนแก่น

ทีมข่าว77ขอนแก่น

ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดขอนแก่น