X

เปิดบ้านนักแสดงวัยเกษียณ สะสม “ใบปิดหนัง” นับร้อย

ขอนแก่น – “เจริญ สาดา” นักแสดงรุ่นเก๋า ฝากชื่อมาแล้วทั้ง “ปีนเกลียว” “เกิดมาลุย” และ “ไอ้ผาง รฟท.“ เก็บโปสเตอร์ใบปิดหนังไทย-เทศนับร้อยแผ่นด้วยใจรัก พร้อมเตรียมเปิดบ้านเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น

อาจารย์เจริญ สาดา ชาวตำบลท่าพระ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ปัจจุบัน อายุ 68 ปี เป็นอดีตอาจารย์โรงเรียนท่าพระวิทยายน และเคยยึดอาชีพช่างเขียนภาพโปสเตอร์ภาพยนตร์มาก่อน ทำให้มีภาพโปสเตอร์ที่สะสมไว้จำนวนมาก   ประกอบกับความเป็นผู้ที่รักและสนใจงานภาพยนตร์ อาจารย์เจริญจึงได้สะสมแผ่นปิดภาพยนตร์เก็บไว้ในบ้านหลายร้อยแผ่น   ตั้งแต่ยุคมิตร ชัยบัญชามาจนถึงสมบัติ เมทะนี ซึ่งเป็นพระเอกในดวงใจโดยจัดพื้นที่ในบ้านเป็นมุมแสดงผลงานของพระเอกทั้งสองคนไว้โดยเฉพาะ

ด้วยความที่เป็นคนพื้นถิ่นเดียวกับ พันนา ฤทธิไกร ผู้กำกับคิวบู๊ชื่อดังคนแรกของประเทศ ส่งผลให้อาจารย์เจริญได้รู้จักคุ้นเคยกับพันนา ก่อนได้รับการชักชวนให้ร่วมแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกคือ “เกิดมาลุย” ออกฉายเมื่อปี พ.ศ. 2529 จากนั้นก็ได้แสดงภาพยนตร์ร่วมกับพันนามาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2527-2540 รวมภาพยนตร์ที่อาจารย์เจริญแสดงทั้งหมด 22 เรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะได้รับบทตัวร้าย เจ้าพ่อ หรือ เสี่ยใหญ่

     โดยมีภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีคือ “ปีนเกลียว” “เกิดมาลุย” และ “ไอ้ผาง รฟท.“ ซึ่งสถานที่ถ่ายทำก็มักเป็นที่ตำบลท่าพระ เช่น ฉากมอเตอร์ไซด์วิ่งชนป้ายโฆษณา หรือ ฉากมอเตอร์ไซด์ชนกับรถกระบะ ในภาพยนตร์เรื่อง “เกิดมาลุย” อออกฉายเมื่อปี พ.ศ.2529 เป็นที่กล่าวขวัญของผู้ชมในยุคนั้นเป็นอย่างมาก

        ภายในบ้านอาจารย์เจริญนอกจากจะสะสมแผ่นปิดภาพยนตร์แล้ว ยังสะสมอุปกรณ์เครื่องใช้ในการถ่ายทำภาพยนตร์ เครื่องฉายภาพยนตร์ ฟิล์มภาพยนตร์ต้นฉบับ เครื่องอัดเทป และ เครื่องใช้ของชาวบ้านสมัยก่อน

        นอกจากนี้ยังเปิดบ้านให้เป็นที่ฝึกซ้อมคิวบู๊ของสตั๊นท์แมนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นเยาวชนในตำบลท่าพระที่มีใจรักในศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวและยิมนาสติก ซึ่งลูกศิษย์หลายคนได้ยึดอาชีพสตั๊นแมนในปัจจุบัน

      อาจารย์เจริญเคยได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติศิลปิน ในฐานะผู้มีผลงานสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อปี พ.ศ.2558 ปัจจุบันแม้จะอยู่ในวัยเกษียณแต่ก็ยังมีบทบาทช่วยเหลืองานของส่วนรวมอยู่เสมอ

และในอนาคตเทศบาลตำบลท่าพระมีโครงการจะปรับปรุงบ้านอาจารย์เจริญให้เป็นศูนย์เรียนรู้แก่เยาวชนและผู้สนใจทั่วไป รวมถึงจัดสร้างพิพิธภัณฑ์  พันนา ฤทธิไกร เพื่อเป็นสถานที่รวบรวมผลงานและยกย่องเชิดชูผู้กำกับคิวบู๊คนแรกของเมืองไทยและยังเป็นชาวขอนแก่นอีกด้วย

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ทีมข่าว77ขอนแก่น

ทีมข่าว77ขอนแก่น

ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดขอนแก่น