X

ผู้ตรวจการแผ่นดิน ลงพื้นที่อำเภอแกลง กรณีข้อพิพาทที่ดินสระน้ำสาธารณประโยชน์ และการดัดแปลงอาคารเป็นที่เลี้ยงนกนางแอ่นกระทบชุมชน

นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ตรวจการแผ่นดิน รุดลงพื้นที่จังหวัดระยอง ประชุมร่วมกับว่าที่ร้อยตรี พิรุณ เหมะรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายกมลธรรม วาสบุญมา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อแก้ไข 3 ปัญหา กรณีน้ำท่วมขังทางสัญจรชุมชนตำบลเชิงเนินเดือดร้อน  ข้อพิพาทที่ดินบริเวณสระน้ำสาธารณประโยชน์บ้านน้ำโจน และการดัดแปลงอาคารพาณิชย์บริเวณตลาดภิบาลพัฒนาเพื่อใช้เลี้ยงนกนางแอ่นกระทบชุมชนใกล้เคียง ตามข่าวที่เคยเสนอไปแล้ว

ความคืบหน้า ที่ได้ประชุมหารือร่วมกับ อำเภอแกลง เทศบาลตำบลเมืองแกลง องค์การบริหารส่วนตำบลกองดิน กรมชลประทาน สำนักงานที่ดินจังหวัดระยอง เพื่อแก้ไขปัญหากรณีข้อพิพาทที่ดินบริเวณสระน้ำสาธารณประโยชน์บ้านน้ำโจน หมู่ที่ 4 ตำบลกองดิน อำเภอแกลง ซึ่งที่ดินดังกล่าวเดิมเป็นของประชาชนที่อุทิศให้ขุดสระน้ำ และรัฐบาลโดยกรมชลประทานได้จัดสรรงบประมาณมาขุดเป็นสระน้ำสาธารณประโยชน์รวมเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่ใช้น้ำทำการเกษตรมากว่า 20 ปี แต่ต่อมาทายาทเจ้าของที่ดินเดิมทำการโอนขายเปลี่ยนมือและมีการล้อมรั้วกั้นทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์เช่นเดิมได้ ซึ่งที่ประชุมได้หารือในประเด็นว่าสระน้ำดังกล่าวซึ่งมีการส่งมอบต่อไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว แต่กลับมีเอกชนกล่าวอ้างว่าตนเป็นเจ้าของที่บริเวณสระน้ำดังกล่าวนั้น ยังมีสถานะเป็นสาธารณสมบัติหรือไม่

โดยสรุปมติที่ประชุม ผู้ตรวจการแผ่นดินมอบหมายให้นายอำเภอร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะการปกครองท้องที่และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ. 2553 พร้อมกันนี้คณะได้ลงพื้นที่ ณ สระน้ำสาธารณประโยชน์บ้านน้ำโจน เพื่อรับฟังปัญหาจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบและตรวจสอบสถานที่ปัญหาเพื่อประกอบการพิจารณาแก้ไขให้ถูกต้องเป็นธรรมกับทุกฝ่ายต่อไปด้วย

ส่วนกรณีสุดท้าย ร้องเรียนจากการปล่อยให้มีการต่อเติมดัดแปลงอาคารพาณิชย์บริเวณตลาดภิบาลพัฒนา อำเภอแกลง เพื่อให้นกนางแอ่นเข้ามาทำรังโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่งกระทบชุมชนใกล้เคียงในด้านเสียงและกลิ่นรบกวน โดยเน้นหารือประเด็น 5 หลัก คือ 1.ด้านการก่อสร้างดัดแปลงอาคารและการออกคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น 2.ด้านผลกระทบสร้างความเดือดร้อนรำคาญเสียง ฝุ่น กลิ่น และโรคที่อาจเกิดจากนกนางแอ่น 3.ด้านการประกอบกิจการกับกฎหมายว่าด้วยผังเมือง 4.การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นว่าได้มีการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ทั้งการควบคุมสุขลักษณะอาคาร และเหตุรำคาญที่เกิดจากสัตว์ หรือไม่ และ 5.ประเด็นปัญหาทางกฎหมาย เช่น กฎกระทรวงให้ใช้ผังเมืองรวม และยังไม่มีความชัดเจนของการกำหนดประเภทกิจการเพื่อการใช้ประโยชน์จากรังนก รวมถึงการยังไม่มีกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร กำหนดลักษณะ แบบ ของอาคารบ้านรังนกที่ถูกต้องสอดคล้องกับมาตรฐานบ้านรังนกไว้โดยเฉพาะ ทำให้ไม่มีการควบคุมเรื่องขนาด ความสูง ระยะร่น ระยะห่าง เป็นต้น โดยผู้ตรวจการแผ่นดินจะเก็บข้อมูลจากปัญหาดังกล่าวในพื้นที่เพื่อประกอบการพิจารณาเพื่อเดินหน้าหาแนวทางแก้ไขปัญหาเชิงระบบ พร้อมเสนอแนะภาครัฐที่เกี่ยวข้องจัดระเบียบผู้ประกอบการเลี้ยงนกนางแอ่นอย่างถูกวิธี ไม่กระทบชุมชนในภาพรวมต่อไป

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน