X

บุรีรัมย์โมเดล ต้นแบบวิสาหกิจชุมชน ปลูก – ผลิตกัญชาการแพทย์แห่งแรก

รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชื่นชม “บุรีรัมย์ โมเดล” ให้เป็นต้นแบบการปลูกกัญชาร่วมกับวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ เก็บผลผลิตส่งโรงพยาบาลคูเมือง ผลิตยาทั้งแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบันกระจายสู่โรงพยาบาล

(16 กันยายน 2562) ที่อุทยานไม้ดอกเพลาเพลิน อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ณรงค์ สายวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 9 นายธีรวัฒน์  วุฒิคุณ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมกันเปิดการเตรียมความพร้อมสู่เมืองต้นแบบ “บุรีรัมย์โมเดล” ในการปลูกและผลิตน้ำมันกัญชา ทางการแพทย์ “Khumuang Hospital Medical Cannabis” ส่งต่อความรู้สู่วิสาหกิจชุมชน  โรงพยาบาลคูเมือง เป็นโรงพยาบาลแห่งเดียวในจังหวัดบุรีรัมย์ ที่มีการผลิตยาสมุนไพรที่ได้มาตรฐาน WHO GMP จึงได้รับมอบหมายให้ผลิตน้ำมันกัญชาทางการแพทย์ ทั้งแผนไทยและแผนปัจจุบัน ได้ร่วมมือกับศูนย์กลางพัฒนาสมุนไพร เพ-ลาเพลินเพื่อชุมชน ซึ่งเป็นวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ เพื่อปลูกกัญชา สำหรับเป็นวัตถุดิบในการผลิตยา ซึ่งเป็นรูปแบบแรกของประเทศไทยที่เป้นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรับกับวิสาหกิจชุมชน

จากการคาดการณ์ปริมาณการใช้น้ำมันกัญชาทางการแพทย์ คาดว่าปริมาณวัตถุดิบกัญชาจะไม่เพียงพอในการผลิตยา เนื่องจากหน่วยงานรัฐมีข้อจำกัดในข้อระเบียบพัสดุในการจัดหาวัตถุดิบ รวมทั้งต้องมีการควบคุมกำกับอย่างเข้มงวดในเรื่องการรักษาความปลอดภัยของวัตถุดิบ

ดังนั้น จังหวัดบุรีรัมย์ จึงได้จัดทำโครงการ เตรียมความพร้อมสู่เมืองต้นแบบ บุรีรัมย์โมเดล การปลูกและผลิตน้ำมันกัญชาทางการแพทย์ “Khumuang Hospital Medical Cannabis” ส่งต่อความรู้สู่วิสาหกิจชุมชน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการปลูกและการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค วิสาหกิจชุมชน เข้าถึงการปลูกกัญชาสำหรับเป็นวัตถุดิบในการผลิตยา โดยส่งให้โรงพยาบาลคูเมือง เป็นผู้ผลิต และเมื่อผลิตเสร็จแล้ว โรงพยาบาลคูเมืองจะส่งผลิตภัณฑ์ยากัญชาที่ได้กลับไปให้โรงพยาบาลต่างๆ ที่เป็นพื้นที่ปลูกกัญชาของวิสาหกิจชุมชนเพื่อใช้รักษาโรคต่อไป ซึ่งรูปแบบนี้เรียกว่า “บุรีรัมย์โมเดล”

โดยผู้เข้าร่วมโครงการในวันนี้ ประกอบด้วย โรงพยาบาลต่างๆ ในจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ นครราชสีมา ชัยภูมิ สระแก้ว พร้อมด้วยวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ของตนเอง และผู้สนใจ รวมทั้งสิ้น 300 คน โดยเชิญคณะวิทยากรจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, มหาวิทยาลัยรังสิต, โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศ, ศูนย์กลางการพัฒนาสมุนไพรเพ-ลาเพลิน เพื่อชุมชน และโรงพยาบาลคูเมือง

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ มากำหนดเป็นนโยบายสำคัญ ถือเป็นเรื่องที่ดี กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายสนับสนุนการวิจัยการผลิต และการใช้สมุนไพรไทย และผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทย ทดแทนผลิตภัณฑ์จากสารเคมี เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกร คำว่า สมุนไพร ที่กล่าวถึงนี้ หมายความรวมถึงกัญชา และกัญชง ด้วย

กัญชา เป็นสมุนไพร ที่จะลดภาระงบประมาณด้านการจัดซื้อยาจากต่างประเทศได้ และสร้างรายได้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการผลิตกัญชาทางการแพทย์ได้อีกทางหนึ่ง สำหรับการปลูกในระดับครัวเรือน ครัวเรือนละ 6 ต้น เพื่อใช้เป็นสมุนไพรรักษาตนเอง ขณะนี้ยังไม่สามารถทำได้ จนกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ สมาชิกพรรคภูมิใจไทยกำลังจะเสนอร่างเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร โดยเงื่อนไขและข้อกำหนดที่ป้องกันผลกระทบทางสังคมและเยาวชนอย่างเข้มงวด วิสาหกิจชุมชน จึงมีความสำคัญในการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ทำให้ประชาชนเข้าถึงการปลูก และการใช้ยากัญชาเพื่อรักษาโรคอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตามรูปแบบ “บุรีรัมย์โมเดล” ต่อไป

สำหรับวิสาหกิจศูนย์กลางการพัฒนาสมุนไพร เพ-ลาเพลิน เพื่อชุมชน เป็นวิสาหกิจชุมชนที่มีความพร้อมทั้งด้านสถานที่ ระบบการปลูก ระบบการรักษาความปลอดภัย โดยได้เริ่ม ปลูกกัญชาล็อตแรกไปเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2562 ใน ระบบปิดที่มีการควบคุมระบบความชื้น อุณหภูมิ การให้น้ำ และการควบคุมศัตรูพืช

ทั้งนี้ จังหวัดบุรีรัมย์มีนโยบายเรื่องการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และได้จัดงาน พันธุ์บุรีรัมย์ เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจทางวิชาการแก่ประชาชนที่มีความจำเป็นต้องใช้กัญชาเพื่อรักษาทางการแพทย์ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงมีผู้จดแจ้งครอบครองกัญชาในระหว่างวันที่ 19-21 เมษายน 2562 มากที่สุด ในประเทศ คือ 1,411 ราย คิดเป็นร้อยละ 29.89 ของผู้ที่จดแจ้งทั้งหมด

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน