X

เลือกตั้งบอร์ดเกษตรกร จะอยู่ที่เดิมหรือเปลี่ยนแปลง?

เลือกตั้งส.ส.เพิ่งที่ผ่านเมื่อ 24 มี.ค.62 ผลทางการจะออกมารูปแบบไหน ใครจะจัดตั้งรัฐบาลยังต้องลุ้นกันอีกนานพอสมควร แต่ 16 มิ.ย.ที่จะถึงนี้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรทั่วประเทศ กว่า 5.5 ล้านคนมีนัดลงคะแนนเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรเพื่อเข้ามาเป็นบอร์ดระดับชาติของกองทุนฯ จำนวน 20 คนจากทั่วประเทศนะครับ

การเลือตั้งบอร์ดในคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ถือเป็นเรื่องสำคัญพอสมควร ว่าง่าย ๆ ก็คือเลือกคณะบุคคลเพื่อเข้ามาแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรทั้งเรื่องหนี้สิน การฟื้นฟูอาชีพโดยให้ภาคเกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วม จากก่อนหน้านี้การแก้ปัญหาเกษตรกรกลายเป็นรัฐคิดอยู่ฝ่ายเดียวแล้วยัดเยียดให้เกษตรกรทำตามจนเกิดปัญหาม้อบทั่วบ้านทั่วเมือง

จากวลีเด็ด “โครงการไหนยิ่งรัฐส่งเสริม ยิ่งเจ๊ง”ก่อนหน้านี้ เลยต้องมีพรบ.กองทุนฟื้นฟูฯปี 2542 เพื่อให้เป็นองค์กรที่ตัวแทนเกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทาง นโยบาย

หากมองจากภายนอกโดยไม่ล้วงลึกเข้าไปในกองทุนฟื้นฟูฯ จริงๆ ก็ดูเหมือนไม่ค่อยจะมีอะไรครับ แต่หากนั่งคิดถึงจำนวนเม็ดเงินที่ใช้ไป ตั้งแต่ปี 2542 -2562 องค์กรนี้ใช้งบประมาณไปไม่น้อยทีเดียว

งบบริหารสำนักงานที่สำนักงบฯ จัดให้ตกราวปีละ 200-300 ล้าน งบฯ โครงการแต่ละปีที่รัฐจัดสรรให้ มีตั้งแต่ปีละ 500-3,000 ล้านบาท บางปีก็ใช้หมด บางปีก็เหลือค้างท่อ และยังมีเงินหมุนเวียนสะสมในการจัดการหนี้เกษตรกร ณ ตอนนี้เกิน 10,000 ล้านบาท

บอร์ดกองทุนฟื้นฟู ฯ ที่จะมีการสรรหาและเลือกตั้งชุดนี้ เป็นชุดที่ 5 หลัง โดนม.44  ปลดยกชุดเมื่อวันที่ 18 พ.ค.2560 และตั้งกรรมการเฉพาะกิจ มีรมว.เกษตรและสหกรณ์ นายกฤษฎา บุญราช เป็นประธานกรรมการ เพื่อสะสางปัญหาที่ซุกใต้พรมมายาวนาน โดยเฉพาะ “ฐานข้อมูลหนี้”ของเกษตรกรสมาชิกที่ไม่เป็นปัจจุบันจนทำให้ตัวเลขทั้งจำนวนคนและจำนวนวงเงินหนี้ที่กองทุนฯ ซื้อมาจากสถาบันการเงินที่เกษตกรเป็นหนี้แล้วจัดการไม่ได้มันผิดเพี้ยน

พอสะสางก็เจอจริงครับ จากตัวเลขสมาชิกในฐานข้อมูล 6 ล้านกว่าคนทั่วประเทศ สรุปล่าสุดเหลือจริงประมาณ 5,530,000 คน ที่เกิน ๆ ไปมีทั้งคนที่เสียชีวิตแล้ว บางคนมีแต่ชื่อไม่มีตัวตน แต่ชื่อของบุคคลเหล่านี้ก็ยังผูกพันกับวงเงินหนี้ หมื่นกว่าล้าน ส่วน “ตัวเลขหนี้ผี” ที่แฝงอยู่เป็นวงเงินเท่าไหร่ก็ติดตามกันดู

เลือกตั้ง 16 มิ.ย.นี้ ได้บอร์ดใหม่ทิศทางของกองทุนฟื้นฟูฯ หลังสังคายนาโดยม.44 จะดีขึ้นหรือไม่ก็ยากที่จะคาดเดา แม้จะแนวคิดแตกเป็น2 ส่วนทั้งฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลง กับฝ่ายที่ต้องการรักษาสภาพเดิม ๆ ไว้ แต่ถ้าดูตามโครงสร้างบอร์ดชุดใหม่ก็น่าจะวนเวียนอยู่กับคนกลุ่มเดิม ๆ

โครงสร้างบอร์ดกองทุนฟื้นฟูฯ มี 3 ส่วน

1.บอร์ดโดยตำแหน่ง มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯหรือมอบหมายให้รัฐมนตรีเป็นประธาน และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวม 10 คน

2.บอร์ดจากผู้ทรงคุณวุฒิ 6 ด้าน เริ่มรับสมัครไปเมื่อ 22 ม.ย.-10 พ.ค.และจะมีกรรมการสรรหาคัดเลือก แยกเป็นภาคราชการที่ 5 คน ภาคเอกชน 6 คน รวม 11 คน

3. บอร์ดจากตัวแทนเกษตรกรทั่วประเทศ เลือกจากสมาชิกโดยตรงตามสัดส่วนสมาชิกฯแต่ละภาค เปิดรับสมัครไปแล้วเมื่อ 29 เม.ย.-3 พ.ค.ที่ผ่านมา

ภาคเหนือ สมาชิก1.3 ล้าน เลือกตัวแทนได้ 5 คน ,ภาคกลาง สมาชิก 9 แสนคน เลือกได้ 4 คน ภาคใต้ สมาชิก 7 แสนคน เลือกได้ 4 คน ภาคอีสานสมาชิก 2.3 ล้านเลือกได้ 7 คน รวมทั้งหมด 20 คน

รวม 3 ส่วน ประกอบเป็นบอร์ดระดับชาติ หรือคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตร รวมเป็น 41 คน และบอร์ดใหญ่ก็ตั้งบอร์ดเล็กอีก 2 บอร์ดเป็นบอร์ดบริหาร และบอร์ดจัดการหนี้ เป็นกลไกหลักในการบริหารกองทุนผ่านสำนักงานกองทุน

ดูตามโครงสร้างก็ยังถือว่าดูดีครับ เพราะอย่างน้อยก็มีตัวแทนเกษตรกรเข้าไปมีส่วนในการกำหนด ในระดับ 50/50 แต่หากดูจากการตื่นตัว การมีส่วนร่วมจากสมาชิกในการเลือกตั้งตัวแทนเกษตรกร ใน 5 สมัยที่ผ่านมาเป็นตัวเลขที่น่าตกใจครับ เพราะเปอร์เซนต์ผู้ใช้สิทธิทั้งหมดเฉลี่อยู่แค่ 20 กว่าเปอร์เซนต์ …ปีที่หนักหน่วงที่สุดน่าจะเป็นปี 2548 มีผู้เลือกตั้งทั่วประเทศเพียง 3 เปอร์เซนต์

คน 5.5 ล้าน เป็นอำนาจต่อรองที่แทบทุกรัฐบาลหวาดกลัว ต้องติดตามเที่ยวนี้ครับ 16 มิ.ย.ในการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกร 20 คน มาเป็นบอร์ดระดับชาติ หลังโดน ม.44 โละบอร์ดยกชุดจากการเลือกครั้งก่อน ว่าทิศทางของกองทุนฟื้นฟูฯ จะไปทางไหน

จะเปลี่ยนแปลง หรือคงสภาพเดิม จุดชี้ขาดหวังได้แค่ตัวแทนเกษตรกร 20 คน ว่าได้คนเดิม คิดแบบเดิม ทำแบบเดิม เหมือนที่เคยทำมา 20 ปีหรือไม่?

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

นิกร จันพรม

นิกร จันพรม

ทำงานข่าวต่อเนื่องหลากหลายทั้งสายข่าวอาชญากรรม สาธารณสุข การเมือง ภูมิภาค กว่า20ปี ผ่านสื่อยุคเก่าทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ สำนักข่าว ก่อนเปลี่ยนผ่านสู่สื่อออนไลน์