X

วัดป่าหนองแก้ว ผุดโรงอบสมุนไพร แก้ปัญหาสุขภาพพระภิกษุ

เมื่อเอ่ยถึงเรื่องการแพทย์แผนไทยหรือแพทย์ภูมิปัญญาไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรงอบสมุนไพร, นวดแผนไทย, ตอกเส้น หรือกิจกรรมใดๆที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาวะ โดยส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่ฆราวาส มากกว่าที่จะมาคิดถึงเรื่องสุขภาพของพระภิกษุ สามเณร ที่ผ่านมาบทบาทของทางวัดจึงได้ทำแค่เอื้อเฟื้อสถานที่เพื่อดำเนินกิจกรรมเหล่านั้นให้บรรลุวัตถุประสงค์  ขณะที่ปัญหาสุขภาพพระสงฆ์เองกลับไม่ค่อยได้รับความสนใจมากมายนัก

พระอาจารย์บุญร่วม  ปภากโร  เจ้าอาวาสวัดป่าหนองแก้ว ต.หนองแก้ว อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ สาขาที่ 18 วัดหนองป่าพง กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าพระภิกษุ สามเณร มีชีวิตความเป็นอยู่โดยอาศัยผู้อื่น กล่าวคืออุบาสก อุบาสิกาได้อุปัฐถากด้วยปัจจัย 4  และในนั้นมีอาหารบิณฑบาต  ซึ่งเป็นอาหารอันประณีตหรือเป็นอาหารที่ปรุงมาอย่างดี เมื่อภิกษุฉันนานวันเข้า โดยไม่ได้ออกกำลังกาย จึงทำให้เกิดโรคอ้วน ความดันสูง เบาหวานและโรคภัยต่างๆตามมามากมาย

ปัญหานี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นกับเหล่าพระสงฆ์ แต่เกิดมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ซึ่งท่านได้กล่าวถึง หมอชีวกโกมารภัจจ์ที่ได้ตระหนักเรื่องนี้หลังจากที่เดินไปเจอพระรูปร่างอ้วน จึงคิดว่าต้องหาทางขับสารพิษ ขับของเสียออกจากร่างกาย จึงได้ทูลเรื่องนี้กับพระพุทธเจ้าและพระองค์ก็ทรงอนุญาตให้หมอชีวกฯทำเรือนไฟเพื่อให้พระภิกษุย่างกายหลังจากฉันอาหารอันประณีตจึงได้เป็นที่มาของชันตาฆรวัตรและเกิดโรงอบ หรือเรือนไฟขึ้นมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลนานมา

พระอาจารย์บุญร่วม ปภากโร เจ้าอาวาสวัดป่าหนองแก้ว

ต่อปัญหานี้พระอาจารย์บุญร่วมจึงได้สนใจศึกษาแนวทางชันตาฆรวัตรที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล เพื่อเปรียบเทียบกับ โรงอบสมุนไพรเพื่อสุขภาพที่มีอยู่ในปัจจุบันว่าจะมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรท่านจึงได้เข้าเรียนหลักสูตรปริญญาพุทธศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพระพุทธศาสนา บัณฑิตวิทาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และได้ทำวิทยานิพนธ์ หัวข้อ “การศึกษาวิเคราะห์หลักชันตาฆรวัตรในพระพุทธศาสนาเถรวาทกับการอบสมุนไพรเพื่อสุขภาพในปัจจุบัน”  ซึ่ง “ชันตาฆรวัตร” หมายถึง ข้อวัตรปฏิบัติในเรือนไฟ เพื่อการประพฤติชอบในการใช้เรือนไฟของพระภิกษุเมื่อครั้งพุทธกาล
        จากวิทยานิพนธ์เล่มหนึ่งของพระอาจารย์บุญร่วม ท่านจึงได้นำองค์ความรู้ที่ศึกษามาทั้งหมดทุ่มเทแรงกาย แรงทรัพย์ส่วนตัวและแรงศรัทธาจากญาติโยม สร้างโรงอบสมุนไพรหรือเรือนย่างกายขึ้นภายในวัดป่าหนองแก้ว ตามศาสตร์โบราณผสมผสานกับศาสตร์สมัยใหม่ที่ได้เดินทางไปศึกษาดูงานมาหลายที่ เพื่อจะเป็นสถานที่บำบัด บรรเทาและรักษาโรคภัยขึ้นทั้งในกลุ่มพระสงฆ์และญาติโยมซึ่งได้ดำเนินการมา กว่า3ปีแล้ว

โดยโรงอบฯจะเปิดทำการในวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ สำหรับผู้ที่ไปใช้บริการสามารถทำบุญร่วมกับทางวัดได้ตามกำลังศรัทธา  เนื่องจากการสร้างห้องอบสมุนไพรตามแบบของชันตาฆรวัตรนั้น ถือได้ว่าเป็นการสร้างห้องอบสมุนไพรเน้นการใช้ประโยชน์ส่วนรวม ไม่ได้เป็นไปในเชิงธุรกิจ เน้นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ สร้างความเป็นผู้มีจิตเมตตาเป็นหลัก

พระอาจารย์บุญร่วม ฝากถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ว่า จากแนวทางชันตาฆรวัตรของพระสงฆ์ในอดีต มาสู่รูปแบบโรงอบสมุนไพรเพื่อสุขภาพในปัจจุบัน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรนำประเด็นนี้กลับมาเป็นข้อพิจารณาพิเศษ ต่อไปเรื่องของการทำบุญที่วัด นอกจากเรื่องของการสร้างโบสถ์สร้างศาลาหรือพุทธสถานอย่างที่เคยทำมา  อาจจะต้องเพิ่มเติมเรื่องการสร้างโรงอบสมุนไพร หรือเรือนไฟสำหรับภิกษุและคนทั่วไปให้ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันด้วย…

โรงอบสมุนไพรวัดป่าหนองแก้ว

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

มนูญ มุ่งชู

มนูญ มุ่งชู

- ปริญญาตรี คณะมนุษย์ศาสตร์ เอกสื่อสารมวลชน ม.รามคำแหง - อดีตผู้สื่อข่าว เวบไซค์อีสานว๊อยดอทเนต (www.esanvoice.net ) เสียงชุมชน เสียงคนอีสาน ศูนย์ข้อมูลท้องถิ่น จ.สุรินทร์ - อดีตผู้สื่อข่าวสำนักข่าวประชาธรรม จ.เชียงใหม่ (www. newspnn.com) - อดีตผู้สื่อข่าว สังกัดกองบรรณาธิการข่าว สำนักข่าวเนชั่น ภาคอีสาน จ.ศรีสะเกษ - อดีตบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นสพ.อีสานวอท์ช (Esanwatch) ปัจจุบัน - บรรณาธิการข่าว วารสารข่าว อบจ.ศรีสะเกษ (ที่นี่ศรีสะเกษ) - หัวหน้าโครงการวิจัยการสร้างกระบวนการเรียนรู้ในการสื่อสารเพื่อให้เกิดพลังการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นชายแดนไทย-กัมพูชา (จ.ศรีสะเกษ) ศูนย์ประสานงานการวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.ศรีสะเกษ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) - Tel : 089 8855394 email : [email protected],[email protected] -Fb : manoon moongchoo -Line : esanwatch