X

“ไทตาด” ชาติพันธุ์(ใกล้) ถูกลืม มีร่องรอยอพยพจากแคว้นสิบสองปันนา ขึ้นฝั่งแม่น้ำโขงนครพนม

“ไทตาด” ชาติพันธุ์(ใกล้) ถูกลืม มีร่องรอยอพยพจากแคว้นสิบสองปันนา ขึ้นฝั่งแม่น้ำโขงนครพนม สภาวัฒนธรรมฯ เตรียมชำระประวัติศาสตร์เป็นชนเผ่าที่ 9 ของจังหวัด

“ไทตาด” เป็นชาติพันธุ์เล็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนครพนม แต่ไม่มีใครรับรู้มาก่อนเลยว่ามีกลุ่มชาติพันธุ์นี้อยู่ในจังหวัดนครพนม และจากการค้นคว้าประวัติของชนเผ่าไทตาด ตลอดจนคำบอกเล่าของกลุ่มนักปราชญ์ประจำชุมชน ได้คัดลอกประวัติจากใบลาน พบว่าไทตาดเป็นกลุ่มชนที่มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่แคว้นสิบสองปันนา มลฑลยูนนาน ประเทศจีน และได้อพยพหนีภัยจากประเทศจีนมาอยู่ในประเทศพม่า (เมียนมา) ภายหลังเกิดความขัดแย้งกับกลุ่มชนพม่า จึงโยกย้ายครอบครัวล่องมาตามลำแม่น้ำโขงเข้าสู่เมืองหลวงพระบาง ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ก่อนจะเคลื่อนย้ายมาถึงเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน สปป.ลาว โดยตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านผาตาด เมืองยมราช

หลังจากนั้นราว 30 ปีชาวไทตาดได้พากันข้ามแม่น้ำโขงขึ้นที่ฝั่งไทย บริเวณท่าน้ำวัดโอกาส เขตเทศบาลเมืองนครพนมในปัจจุบัน และได้แยกย้ายกันออกไปตั้งบ้านเรือนเพื่อประกอบอาชีพ โดยไทตาดกลุ่มใหญ่ตั้งชุมชนอยู่ที่ ต.บ้านผึ้ง ส่วนหนึ่งแยกไปอยู่บ้านหนองบัว ต.นาราชควาย อีกส่วนหนึ่งไปตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านนาคำกลาง ต.นาทราย โดยทั้ง 3 หมู่บ้านทั้งหมดตั้งอยู่ในเขต อ.เมืองนครพนม และยังมีอีกส่วนหนึ่งที่แยกไปอยู่ ต.พระซอง อ.นาแก จ.นครพนม

จังหวัดนครพนม  ปัจจุบันได้ยอมรับกลุ่มชาติพันธุ์ลุ่มน้ำโขงรวม  8  ชนเผ่า ได้แก่  1.เผ่าผู้ไท (ภูไท) 2.ญ้อ(ย้อ)  3.แสก  4.กะเลิง  5.โส้(โซ่)  6.ข่า 7.ไทยลาว (ไทยอีสาน) และ 8.เผ่าไทยกวน นอกจากนี้ยังมี 2 เชื้อชาติรวมอยู่ด้วย คือ จีน เวียดนาม

กลุ่มชนเผ่าไทตาดแม้จะมีการค้นพบในเวลาไล่เลี่ยกับชนเผ่าอื่นๆในลุ่มแม่น้ำโขงจังหวัดนครพนม  แต่เหมือนถูกทอดทิ้งและกำลังจะถูกลืมเลือนไปกับกาลเวลา ทั้งที่มีเรื่องราวสืบสานประเพณีจากรุ่นสู่รุ่น และมีนักวิชาการเข้ามาศึกษาประวัติศาสตร์ ค้นหาร่องรอยหลายชุด รวมระยะเวลาแล้วนับสิบปี แต่ทุกอย่างเหมือนย่ำอยู่กับที่ ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวไทตาดที่รู้ประวัติชาติพันธุ์ของตนก็เริ่มล้มหายตายจาก ประกอบกับศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมถูกศิลปะสมัยใหม่เข้ามากลืนกิน ความเป็นชนเผ่าโบราณก็เริ่มสูญหายไปทีละน้อยๆ

ล่าสุด เกิดมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เมื่อพระราชสิริวัฒน์หรือเจ้าคุณเพชร เจ้าคณะจังหวัดนครพนม(มหานิกาย)/เจ้าอาวาสวัดสว่างสุวรรณาราม เขตเทศบาลเมืองนครพนม ผู้มีเชื้อสายชนเผ่าไทตาด ไม่ยอมให้ชาติพันธุ์นี้สาบสูญไปกับกาลเวลา ได้ปรารภกับผู้ใกล้ชิด ว่า ต้องการให้มีการชำระประวัติศาสตร์ของชนเผ่าไทตาดอย่างเป็นจริงเป็นจังเสียที ดังนั้น ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีขาล วันที่ 15 พฤษภาคม 2565 ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา เจ้าคุณเพชรถือฤกษ์มหามงคลวางศิลาฤกษ์สร้างพระธาตุแสงนคร โดยนำนางรำชนเผ่าไทตาดกว่า 120 ชีวิต  จัดแสดงชุดฟ้อนรำบูชาพระธาตุ อันเป็นวิถีชีวิตของชนเผ่าไทตาดที่แสดงออกถึงการสืบสานประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมถึงการบ่งบอกถึงวิถีชีวิตที่สืบทอดมาแต่โบราณ เพื่อบอกเป็นนัยๆว่า ในนครพนมยังมีชนเผ่าไทตาดที่ยังรอการขึ้นทำเนียบเป็นชนเผ่าที่ 9 ประจำจังหวัดอยู่

ขณะเดียวกัน นายคมสิน ศรีมานะศักดิ์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม ได้มีแนวคิดเช่นเดียวกับเจ้าคุณเพชร ถึงขั้นนำงานวิจัยเชิงสำรวจ คุณภาพ ด้านนิเวศวัฒนธรรม เรื่อง”ไทตาด ความหลากหลายทางชีว-ชาติพันธุ์ที่ลุ่มน้ำโขงนครพนม” โดยอาจารย์ธันวา ใจเที่ยง หัวหน้าชุดโครงการศึกษาเพื่อการพัฒนากลุ่มชน 2 ฝั่งโขง ถ่ายเอกสารงานวิจัยดังกล่าว เผยแพร่สู่ภายนอกได้รับรู้ถึงความเป็นมาของชนเผ่าไทตาด และเตรียมเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์หลากหลายสาขา เข้าร่วมชำระประวัติศาสตร์ เพื่อสืบหาร่องรอยชนเผ่าไทตาด โดยจะกำหนดวันที่แน่ชัดอีกทีในปลายเดือน พค.นี้ โดยมีนายทองเย็น สุดทะมา รองนายก อบต.บ้านผึ้ง เป็นผู้ร่วมประสานปราชญ์ชาวบ้านตลอดจนผู้รู้ประวัติความเป็นมาในพื้นที่

ความเป็นชาติพันธุ์ไทตาด ภาษาก็ถือเป็นจุดเด่นของชาวไทตาด โดยจัดอยู่ในกลุ่มภาษาไท-กะได(Tai-Kadai) ซึ่งเป็นภาษาไทยตระกูลหนึ่ง และถือเป็นกลุ่มชนที่ใช้ภาษาที่มีรากศัพท์เช่นเดียวกับคำในภาษาถิ่นอื่นๆ ทั่วไป โดยมีสำเนียงเอียงไปทางชาวไทญ้อ,ลาว และผู้ไท แต่มีเอกลักษณ์พิเศษตรงคำลงท้ายมักจะมีคำว่า “เห้อ” ตามหลังเสมอ เช่น “ไปไสเห้อ” “มาแต่ได๋เห้อ” นอกจากนี้ในภาษาชาวไทตาด ยังใช้อักษรควบ เช่น “คว” “ขว” เหมือนในภาษาราชการในปัจจุบันอีกด้วย อย่างคำว่า “ขวา” ในภาษาอีสานกลุ่มอื่นมักใช้คำว่า “ขัว” แต่ภาษาไทตาดใช้คำว่า “ขวา” อย่างชัดถ้อยชัดคำ เป็นต้น

ประเพณีการละเล่นที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ “การลงข่วง” ที่ฝ่ายหญิงจะเป็นคนเข็นฝ้าย(ปั่นฝ้าย) และฝ่ายชายจะเข้ามาพูดคุยในยามกลางคืน เป็นการเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้พูดเกี้ยวเป็นผญาเกี้ยวสาว อันเป็นถ้อยคำและกิจกรรมคนหนุ่มสาวของชาวอีสาน ชาวบ้านกล่าวว่าเป็นประเพณีดั้งเดิมประจำหมู่บ้าน หลังการตั้งบ้านเรือนในแถบจังหวัดนครพนมแล้ว

นอกจากนี้ยังมีการละเล่น”ตาดกินดอง(งานแต่งงาน)”  รวมถึงประเพณีกินดองที่ไม่มีใครเหมือน และประเพณีการเลี้ยงผีใหญ่ โดยจะจัดขึ้น 3 ปีต่อหนึ่งครั้ง มีกว้านจ้ำ(ผู้นำการบวงสรวง สังเวยผี และเทวดาประจำหมู่บ้านหรือผีปู่ตาเป็นผู้ช่วยสื่อสารระหว่างคนกับผี ฯ) เป็นผู้สื่อสารระหว่างลูกหลานชาวตาดกับบรรพชน ซึ่งในงานนั้นกลุ่มชนไทตาดไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใด จะต้องส่งเสบียงอาหาร หรือไม่ก็รวบรวมเงินทองมาช่วย มีส่วนร่วมในการจัดเลี้ยง จัดพิธี ในประเพณีและพิธีกรรมดังกล่าว

สำหรับประวัติ ต.บ้านผึ้ง ซึ่งเป็นถิ่นชุมชนชาวไทตาดที่ใหญ่สุด แต่เดิมชื่อบ้านโคกคำ ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นบ้านโคกดาวควัน เล่ากันว่าระหว่างนั้นได้เกิดสงครามทุ่งไหหินในพื้นที่ สปป.ลาว มีทหารไทยชื่อ”หลวงมน” ได้รับบาดเจ็บจากศึกสงครามนั้น และข้ามแม่น้ำโขงมาโดยได้รับการช่วยเหลือจากชาวบ้านโคกดาวควัน ด้วยการนำตัวหลวงมนไปรักษาตัวในหมู่บ้านโคกดาวควัน ต่อมาบ้านโคกดาวควันจึงเปลี่ยนเป็นบ้านพึ่ง(หมายถึงการพึ่งพาอาศัย) และเพี้ยนภาษาเขียนมาเป็น”บ้านผึ้ง”ในที่สุด.

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน