X

ไม่มียุบสภา รัฐบาลอยู่ยาว

วิเคราะห์สถานการณ์การเมือง : แม้เป็นขาลงของรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐ แต่จับสัญญาณทั้ง พล.อ. ประยุทธ์ และคนรอบตัว พบยังไม่คิด “ยุบสภา” เล็งอยู่ยาวถึงปลายปี 65 ตอกย้ำแนวคิด “ไม่มีรัฐบาลไหนยุบสภาในช่วงขาลง” แต่การเมือง ก็คือ การเมือง อะไรก็เกิดขึ้นได้ 

“ยังไม่คิดยุบสภา ปรับคณะรัฐมนตรี”

เป็นคำกล่าวยืนยันของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้มีอำนาจเต็มเพียงคนเดียวในการยุบสภา กล่าวไว้เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา

เป็นการกล่าวยืนยันหลังจากสำนักทะเบียนราษฎร์กลาง กระทรวงมหาดไทย ออกประกาศจำนวนประชากรของไทย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564

และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้นำฐานข้อมูลจำนวนประชากรดังกล่าวมาสั่งการไปยังสำนักงานการเลือกตั้งประจำจังหวัด ให้แบ่งเขตการเลือกตั้งใหม่

โดยเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 นายกิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ปฏิบัติหน้าที่แทนเลขาธิการ กกต. ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ถึงผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด และ กรุงเทพมหานคร แจ้งประกาศจำนวนราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร์และการเตรียมความพร้อมในการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. หลังสำนักทะเบียนกลางกระทรวงมหาดไทย ส่งประกาศสำนักทะเบียนกลางเรื่องจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร์ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไป เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 มาให้

โดยสำนักงาน กกต. ได้คำนวณจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขใหม่กำหนด คือมีจำนวน ส.ส. เขตเพิ่มขึ้นจาก 350 คน เป็น 400 คน เพื่อให้สำนักงาน กกต. ประจำจังหวัด และ กทม. ที่จำนวน ส.ส. แต่ละจังหวัดจะพึงมีเกิน 1 คน เตรียมแบ่งเขตเลือกตั้งไว้เป็นการล่วงหน้าอย่างน้อย 3 รูปแบบ และเมื่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องมีผลใช้บังคับจะได้ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป

สำหรับหลักเกณฑ์ในการคำนวณจำนวน ส.ส. ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และการแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 86 โดยจำนวนราษฎรทั้งประเทศ 66,171,439 คน และกฎหมายกำหนดให้มีส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน กกต.คำนวณจำนวนราษฎรเฉลี่ยต่อส.ส. 1 คน อยู่ที่ 165,428.5975 คน

สื่อบางสำนักพากันพาดหัวข่าวให้ตื่นเต้นว่า “สัญญาณการเลือกตั้งมาเร็ว” ซึ่งจริง ๆ ไม่ได้มีสัญญาณอะไรว่าจะมีการเลือกตั้งจากการประกาศจำนวนประชากร และการเตรียมพร้อมแบ่งเขตการเลือกตั้งของ กกต. ถือว่าเป็นการทำหน้าที่ตามปกติ

กระทรวงมหาดไทย โดยสำนักทะเบียนราษฎร์กลาง ออกประกาศจำนวนประชากรทุกปี โดยยึดเอาวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปีเป็นเกณฑ์ และจะประกาศประมาณปลายเดือนมกราคมของปีถัดมา ส่วนการแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต.ก็ถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องเตรียมความพร้อมไว้ตลอดเวลา เพราะไม่รู้ว่าอุบัติเหตุทางการเมืองจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

สิ่งที่ไม่ควรลืมคือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ทึ่ต้องมีการแก้ไขใหม่เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญใหม่ ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ ถ้ายุบสภาเวลานี้ก็ไม่มีกฎหมายรองรับการเลือกตั้ง

“ยุ่งตายห่า” วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าว และบอกว่า ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น แต่การเมือง ก็คือ การเมือง อะไรก็เกิดขึ้นได้ ถ้ามีการยุบสภาในช่วงยังไม่มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ทางออกคือ รัฐบาลจะต้องออกเป็นพระราชกำหนด แต่เป็นเรื่องไม่สวยงาม เพราะนี้คือการออกกฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญ

“รัฐบาลนี้อยู่ยาวอีกนาน” เป็นคำเปิดเผยจากแหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดและได้พบหารือกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา และย้ำว่า ไม่มีแนวคิดยุบสภาในช่วงนี้ จะอยู่ยาวถึงปลายปี 2565 หลังประชุมเอเปกผ่านไปแล้ว

เป็นการตอกย้ำวิธีคิด “ไม่มีรัฐบาลไหนยุบสภาในช่วงขาลง”

ต้องยอมรับความจริงว่าช่วงนี้เป็นช่วงขาลงของรัฐบาล ขาลงของพรรคพลังประชารัฐ ขาลงของรัฐบาลอันเกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ซึ่งมีผลกระทบในวงกว้าง ลามถึงรากหญ้า เศรษฐกิจย่ำแย่ ยังไม่เห็นแสงสว่างแม้ปลายอุโมงค์

พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลก็มีปัญหาแตกแยกภายใน มีการขับไล่สมาชิกพรรคที่เป็น ส.ส. 21 คน ในกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตเลขาธิการพรรค ออกจากพรรค ไปสังกัดยังพรรคใหม่อย่าง พรรคเศรษฐกิจไทย ซึ่งยังไม่รู้ท่าทีว่าจะเป็นฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาล แม้ พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เด็กในสังกัดบิ๊กป้อม จะออกไปรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคแล้ว แต่ท่าทีโดยรวมของพรรคยัง “ไม่รู้” พรรคพลังประชารัฐจึงอยู่ในภาวะ “แพแตก” จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะยุบสภาในวาระขาลง

สถานการณ์ที่ต้องเฝ้าระวังและติดตาม น่าจะอยู่ที่สภาฯ มากกว่า เพราะตอนนี้รัฐบาลอยู่ในสถานการณ์เสียงปริ่มน้ำ สภาล่มแล้วล่มอีก ถ้ากฎหมายสำคัญของรัฐบาลเข้าสภา เช่น พ.ร.บ. งบประมาณ และการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นเรื่องสำคัญกว่า “การแจ้งจำนวนประชากร และการแจ้งให้แบ่งเขตเลือกตั้ง”

นายหัวไทร

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน