X

กฟผ. ขับเคลื่อนพลังงานสะอาด ปั้น “โครงการพลังงานไฮบริด น้ำ-โซลาร์เซลล์” แห่งแรกในไทย

พลังงานไฟฟ้าจาก น้ำ ลม และแสงอาทิตย์ ถือเป็นพลังงานหมุนเวียนแบบสะอาด เพราะมาจากแหล่งธรรมชาติ และยังถือเป็นพลังงานทดแทนที่ใช้ได้ไม่มีวันหมด เพราะยังมี น้ำ ลม และแสงอาทิตย์ เกิดขึ้นอยู่เสมอ ปัจจุบัน เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ มีความทันสมัยเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถือเป็นผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอต่อภาคองค์กรธุรกิจและภาคประชาชน จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จนทำให้เกิด “โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร” จังหวัดอุบลราชธานี ขนาดกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 45 เมกะวัตต์

เมื่อนำพลังงานทั้ง 2 ประเภท คือ ‘แสงอาทิตย์’ และ ‘น้ำ’ ผนึกเข้าไว้ด้วยกัน โดยการนำโซลาร์เซลล์มาติดตั้งบนพื้นที่ผิวน้ำของเขื่อนสิรินธร นอกจากจะสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้แล้ว ยังมีการนำระบบไฮบริด (Hybrid) มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำเสริมในช่วงเวลากลางคืน หรือช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงได้เป็นอย่างดี นอกเหนือจากการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในช่วงเวลากลางวัน  ทั้งนี้ เพื่อให้ผลิตกระแสไฟฟ้าออกมาใช้ได้อย่างต่อเนื่อง และยังช่วยเสริมความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าให้แก่ประเทศได้ โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำฯ แห่งนี้ ยังนับได้ว่าเป็นโครงการโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งอยู่บนทุ่นลอยน้ำแบบระบบไฮบริด ขนาดใหญ่แห่งแรกในประเทศไทย

สำหรับแนวทางการดูแลป้องกันและรักษาสิ่งแวดล้อม กฟผ. เลือกติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ชนิดดับเบิลกลาส (Double Glass) ซึ่งเป็นแผ่นกระจกทั้งด้านบนและด้านล่าง สามารถป้องกันความชื้นซึมเข้าสู่แผงเซลล์ได้ดี ทำให้ไม่มีสิ่งปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ ปลอดภัยต่อสัตว์น้ำและการใช้งาน และยังใช้ทุ่นลอยน้ำชนิด HDPE (High Density Polyethylene) ซึ่งเป็นวัสดุประเภทเดียวกับท่อส่งน้ำประปา ถือเป็นวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีช่องเปิดให้แสงส่องผ่านและอากาศถ่ายเทลงสู่ผิวน้ำได้ดี และที่สำคัญอย่างยิ่งของการจัดทำโครงการครั้งนี้ คือ การช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CO2) ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนได้ถึง 47,000 ตัน/ปี โดยขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งคาดว่าชุดแรกจะติดตั้งแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2563ินี้ และจะทยอยติดตั้งทั้งหมดจนครบ 7 ชุด คาดว่าจะมีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ให้ใช้ไฟฟ้าได้จริงช่วงกลางปี 2564

นอกจากนี้ “โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ” ยังมีการก่อสร้างเส้นทางเดินธรรมชาติ (Natural Walkway) ความยาวกว่า 415 เมตร และอาคารต้อนรับนักท่องเที่ยวภายในพื้นที่ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาดูงานด้านพลังงานหมุนเวียนให้แก่ นักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ที่สนใจทั้งจากภายในและต่างประเทศ ซึ่งจะกลายเป็นอีก 1 สถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ใน จ.อุบลราชธานี ให้นักท่องเที่ยวได้มาเดินเล่นพักผ่อนหย่อนใจ ชมธรรมชาติควบคู่ไปกับการชมแผงโซลาร์เซลล์ลอยน้ำระบบไฮบริดแห่งแรกของไทย ซึ่งทั้งหมดนี้ นอกจากจะเป็นการผลิตกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ สร้างความมั่นคงทางพลังงานของชาติ และเป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานด้านพลังงานแล้ว ยังมีส่วนช่วยผลักดันเศรษฐกิจในชุมชนใกล้เคียง และ จ.อุบลราชธานี ได้เป็นอย่างดี

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"