X

นักวิจัยเคมีไฟฟ้า“จุฬาฯ”คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ปี61

ศ.ดร.อรวรรณ ชัยลภากุล ภาควิชาเคมี จุฬาฯ คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 61 รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พร้อมเงินรางวัล 4 แสนบาท
 
ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปี 2561 โดยมีศาสตราจารย์ ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล ประธานคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและอธิการบดีสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) เป็นประธานในพิธี ซึ่งงานนี้เป็นการจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 36 แล้ว
 
ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล กล่าวว่า “การพัฒนาและขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศไทย จำเป็นต้องอาศัยนกวิจัยในการคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างองค์ความรู้ที่มีศักยภาพไปสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือการใช้งานด้านต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ”
โดยเฉพาะโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงภายใต้โมเดล “ประเทศไทย 4.0” ของรัฐบาล จากการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ จาก 137 ประเทศทั่วโลก (The Global Competitiveness Report 2017-2018) พบว่าระดับความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศไทยนั้นอยู่ในอันดับที่ 32
 
ระดับความสามารถด้านการศึกษาในระดับอุดมศึกษาไทยอยู่ในอันดับที่ 57 ความพร้อมด้านเทคโนโลยีอยู่อันดับที่ 61 และการสร้างนวัตกรรมอยู่อันดับที่ 50 และหากเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ในอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ พบว่าการสร้างนวัตกรรมของไทยอยู่อันดีบที่ 4 ในขณะที่คุณภาพของระบบการศึกษาอยู่ในอันดับที่ 4 เช่นกัน
 
ดังนั้นการยกระดับประเทศไทยให้ก้าวไปสู่การพัฒนาแบบก้าวกระโดด และเปลี่ยนจากการเป็นผู้ซื้อเทคโนโลยีมาเป็นผู้สร้างนวัตกรรมเช่นเดียวกับประเทศชั้นนำในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือ สิงคโปร์ จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การส่งเสริมความเป็นเลิศในสาขาวิจัยที่สร้างศักยภาพให้กับประเทศ การเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การสนับสนุนนักวิจัยและผู้นำกลุ่มนักวิจัยชั้นแนวหน้า
 
และการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนด้านการวิจัย เพื่อเร่งสร้างนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย วิศวกร ที่มีคุณภาพให้เพียงพอต่อความต้องการ และให้ทันต่อการพัฒนาโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) อันเป็นการพัฒนาประเทศชาติให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนอย่างแท้จริง
 
โดยปีนี้คณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ ศาสตราจารย์ ดร.อรวรรณ ชัยลภากุล ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2561 พร้อมรับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 4 แสนบาท
โดย ศาสตราจารย์ ดร.อรวรรณ เป็นผู้ริเริ่มการนำขั้วไฟฟ้าเพชรเจือโบรอน (Boron-doped diamond,BDD) มาใช้เป็นรายแรกในประเทศไทย ซึ่งขั้วไฟฟ้าชนิดนี้ใช้เป็นเซ็นเซอร์สำหรับการตรวจจับวัดสารประกอบอินทรีย์และสารประกอบอนินทรีย์
 
สามารถประยุกต์ใช้ด้านสิ่งแวดล้อม ทางด้านอาหาร และทางการแพทย์ อีกทั้งเป็นการช่วยลดการนำเข้าอุปกรณ์การตรวจวิเคราะห์จากต่างประเทศ และเป็นการช่วยเสริมภาคอุตสาหกรรมในการผลิตอุปกรณ์ตรวจวัดเพื่อใช้งานได้เองภายในประเทศ
 
และด้วยผลงานที่มีคุณภาพจึงทำให้ ศาสตราจารย์ ดร.อรวรรณ ได้มีบทบาทหน้าที่สำคัญทั้งในระดับประเทศและนานาชาติด้านต่างๆ โดยมีผลการวิจัยมากมายที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง รวมถึงตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารระดับโลกอีกมากมาย
 
ทั้งนี้ศาสตราจารย์ ดร. อรวรรณ ยังได้เพิ่มความสามารถของการใช้งานเซ็นเซอร์เคมีไฟฟ้าโดยการพัฒนาควบคู่กับระบบของไหล (Flow-based system) ต่างๆเช่นเทคนิคโฟลว์อินเจคชันอะนาลิซิส (Flow injection analysis) ซีเคว็นเชียลอินเจคชันอะนาลิซิส (Sequential injection analysis)
 
ลิควิดโครมาโตกราฟี (Liquid chromatography) รวมถึงอุปกรณ์ไมโครฟลูอิดิกส์ (Microfluidic device) เช่นอุปกรณ์ปฏิบัติการบนชิพ (Lab-on-a-chip) และปัจจุบันกลุ่มยิจัยของศาสตราจารย์ ดร. อรวรรณ ยังเป็นผู้บุกเบิกและพัฒนาการตรวจวัดรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า อุปกรณ์ปฏิบัติการบนกระดาษ (Lab-on-paper) ร่วมกับการตรวจวัดทางเคมีไฟฟ้าอีกด้วย
 
สำหรับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปี 2561 ได้รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 1 แสนบาท ได้แก่
 
1.ดร.จุฬารัตน์ วัฒนกิจ สำนักวิชาวิทยาการพลังงาน สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ผลงานวิจัย “ตัวเร่งปฏิกิริยานาโน สู่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน”
2.ผศ.ดร.เจ้าทรัพย์ บุญมาก สาขาวิชาการเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นผลงานวิจัย “ผลึกวิทยาของวัสดุโคออร์ดิเนชันพอลิเมอร์และสารเชิงซ้อนชนิดใหม่”

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน