X
ขยะอิเล็กทรอนิกส์

“ประวิตร” สั่งยกเลิกนำเข้า “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” ทันที

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สั่งยกเลิกการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ โดยมีการตั้งคณะอนุกรรมการที่มี รมว.กระทรวงทรัพย์ฯ เป็นประธาน เพื่อพิจารณารายละเอียดกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หลังพบว่า มีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศรวม 3,667.40 ตัน คิดเป็น 1.37 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าทั้งหมดจำนวน 266,507.40 ตัน

การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ครั้งที่ 5/2561 ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาหารือประเด็นเกี่ยวกับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ และเศษพลาสติก ที่นำเข้าจากต่างประเทศไม่ถูกต้อง ซึ่งประชุมได้มีข้อเสนอ ดังนี้

ในส่วนของมาตรการเร่งด่วน มี 3 ประเด็น คือ (1.) เสนอให้ระงับการอนุญาตนำเข้าขยะอิเล็คทรอนิกส์ ของโรงงานที่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง ตามพันธะกรณีของอนุสัญญาบาเซล ที่ไทยเข้าร่วม , (2.) กรณีสำแดงเท็จการนำเข้าขยะ ให้มีการพิจารณาผลักดันการนำกลับประเทศต้นทาง รวมถึงให้เร่งดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และ (3.) กรณีขยะอิเล็คทรอนิกส์ และเศษพลาสติก ที่นำเข้า และถูกส่งไปยังโรงงานกำจัดขยะที่ไม่ถูกต้องตามใบอนุญาต ให้ส่งกลับไปยังโรงงานที่ได้รับอนุญาต หรือนำไปกำจัดให้ถูกต้อง และให้ดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ระบุว่า จะต้องเพิ่มความเข้มงวดในการพิจารณาอนุญาตนำเข้าขยะ และกำหนดให้มีการวางเงินประกัน หากเกิดค่าเสียหายจากการสำแดงเท็จ หรือการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องของการนำเข้า โดยกรมศุลกากรจะต้องเพิ่มความเข้มงวดในการตวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ที่สำแดงเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ และกระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบโรงงานที่รับกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ ตามเงื่อนไขที่ขออนุญาต รวมถึงเพิ่มบทลงโทษผู้กระทำผิด และเพิ่มระบบการกำกับการขนส่งขยะจากท่าเรือไปโรงงาน พร้อมกันนี้ ยังมีการเสนอให้ยกเลิก การนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดด้วย

นอกจากนี้ พล.อ.ประวิตร ได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าภาพและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน ทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสากรรม กรมควบคุมมลพิษ กรมศุลกากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ให้พิจารณาเรื่องเร่งด่วนในการแก้ไขกฎหมายการห้ามนำเข้าขยะอิเล็คทรอนิกส์ โดยให้มีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และหากใช้กฎหมายปกติที่มีอยู่ไม่ได้ ก็ให้คณะกรรมการเสนอใช้คำสั่ง คสช.ตามมาตรา 44 และกำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่ในความรับผิดชอบของตนเองให้มากขึ้น และทำด้วยความโปร่งใส ห้ามมีการรับสินบนโดยเด็ดขาด และถ้ามีความบกพร่องก็ถือว่าทุจริตในหน้าที่และสิ่งที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาให้ถือเป็นบทเรียน ต้องไม่เกิดซ้ำซากอีก และต้องมีผู้รับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น และย้ำให้ฝ่ายปกครองต้องกวดขันอุตสาหกรรมกำจัดขยะในพื้นที่ โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนตำบลและองค์การบริหารส่วนจังหวัด

ขณะเดียวกัน ให้ประสานกรมควบคุมมลพิษ และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในการสำรวจคุมเข้มมาตรการกำจัดของเสีย โดยเฉพาะสารพิษที่ปล่อยลงทั้งทางอากาศและทางน้ำ เช่น สารตะกั่ว สารปรอทและแคทเมียม และให้กรมศุลกากรตรวจสอบอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะขยะอิเล็คทรอนิกส์ที่ไม่ได้สำแดงหรือสำแดงเท็จ

จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ได้ตรวจสอบสถิติการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ พบว่า ระหว่างปี 2553-2559 มีปริมาณการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ระหว่าง 1,445.21 – 4,246.73 ตัน ส่วนในปี 2560 ปริมาณนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์มีมากถึง 53,290.60 ตัน สำหรับปี 2561 (เดือนมกราคม – พฤษภาคม) มีการนำเข้าแล้ว 37,799.52 ตัน

ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผู้ออกใบอนุญาตการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ พบว่า โรงงานที่ได้รับใบอนุญาตให้จัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์จากการนำเข้า มีจำนวนทั้งสิ้น 7 โรงงาน ทั้งนี้ มีเพียง 2 โรงงานที่ดำเนินการถูกต้องตามข้อกำหนดของอนุสัญญาบาเซล ซึ่งทั้งสองโรงงานมีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้ารวม 3,667.40 ตัน คิดเป็น 1.37 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าทั้งหมดจำนวน 266,507.40 ตัน (ข้อมูลปี 2560-2561)

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน